ความรู้เบื้องต้น


          ภาษาศาสตร์ ไม่ใช่วิชาที่มุ่งศึกษาทักษะการใช้ภาษาต่างๆโดยเฉพาะ แต่เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาลักษณะของภาษาโดยอาศัยหลักทฤษฎีและวิธีการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์มองว่าภาษาคือกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์มีร่วมกัน ถึงแม้ว่าภาษาไทยกับภาษาญี่ปุ่นจะดูแตกต่างกันในสายตาของคนทั่วไป แต่สำหรับนักภาษาศาสตร์แล้ว ทั้งสองภาษานี้มีทั้งความเหมือนและความต่าง เช่นเดียวกับภาษาอื่นๆ ในโลก โดยนักภาษาศาสตร์เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ตระหนักถึงความสามารถในการใช้ภาษาของมนุษย์ และพยายามที่จะศึกษาคุณสมบัติของภาษาในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ในสังคมใช้เพื่อสื่อสารกัน

          การศึกษาภาษาศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 แขนงหลัก กล่าวคือ ภาษาศาสตร์ทั่วไป และภาษาศาสตร์ประยุกต์

  1. ภาษาศาสตร์ทั่วไป (言語学 : Pure Linguistics) ภาษาศาสตร์ทั่วไปหรือภาษาศาสตร์เชิงทฤษฎีเป็นการศึกษาลักษณะทั่วไปของภาษาในมิติที่ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงไปสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ใช้ นักภาษาศาสตร์แบ่งการศึกษาภาษาออกเป็นระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับเสียง ระดับคำ ระดับวากยสัมพันธ์ ระดับความหมาย นอกจากนี้ภาษาศาสตร์ยังแบ่งการศึกษาภาษาเป็น 2 กลุ่มในมุมมองที่สัมพันธ์กับกาลเวลาคือ การศึกษาลักษณะของภาษา ณ จุดของเวลาใดเวลาหนึ่ง (共時的 : Synchronic) และการศึกษาลักษณะของภาษาตามการเปลี่ยนแปลงของเวลา (通時的 : Diachronic)
  2. ภาษาศาสตร์ประยุกต์ (応用言語学 : Applied Linguistics) เป็นการศึกษาภาษาในมุมมองที่สัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นเพื่อวัตถุประสงค์ในการประยุกต์ใช้ สามารถนำมาผนวกเข้ากับการศึกษาภาษาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การศึกษาภาษาศาสตร์ประยุกต์มีมากมายเช่น สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา ครุศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ประสาทวิทยา เป็นต้น

ภาษา (言語) คือ เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้  เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ

ภาษา เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารแทนความคิด ความรู้สึกของผู้พูด ผ่านเสียง ตัวอักษร หรือท่าทางอย่างเป็นระบบ

ภาษาศาสตร์ (言語学) คือ วิชาที่ศึกษาภาษาในแง่มุมต่าง ๆ เช่น เสียง โครงสร้าง ความหมาย โดยอาศัยวิธีทางการวิทยาศาสตร์ เช่น มีการตั้งสมมุติฐาน เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วสรุปผล

ภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่น (日本語学) คือ วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นในแง่มุมต่างๆอย่างเป็นระบบ

日本語学というのは文字通り 「日本語についての学」 で、日本語を研究する分野の名称として 「国語学」 と 「日本語学」 がある。(庵功雄,2001)(小矢野哲夫,2003)

แขนงวิชาของภาษาศาสตร์ มีหลายแขนงวิชา รวมทั้งยังมีสาขาย่อยวิชาแยกย่อยออกไปอีกมากมาย แต่โดยภาพรวมจะมีแขนงวิชาหลักๆ ดังนี้

  • สัทศาสตร์ (音声学 : Phonetics) เป็นการศึกษาเสียงต่าง ๆ ซึ่งใช้ร่วมกันในภาษามนุษย์ทุกภาษา
  • สัทวิทยา (音韻論 : Phonology) เป็นการศึกษารูปแบบเสียงพื้นฐานของภาษา
  • วิทยาหน่วยคำ (形態論 : Morphology linguistics) เป็นการศึกษาโครงสร้างภายในของคำและการเปลี่ยนรูปของคำ
  • วากยสัมพันธ์ (統語論 : Syntax) เป็นการศึกษาการประกอบคำขึ้นเป็นประโยคที่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
  • อรรถศาสตร์ (意味論 : Semantics) เป็นการศึกษาความหมายของคำและวิธีการประกอบคำขึ้นเป็นประโยคเพื่อสื่อความหมาย
  • วัจนปฏิบัติศาสตร์ (語用論 : Pragmatics) เป็นการศึกษาวิธีการใช้ถ้อยความเพื่อสื่อความหมายในการสื่อสาร เช่น แบบตรงตัว แบบอุปมาอุปไมย ฯลฯ
  • ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (歴史言語学 : Historical linguistics) เป็นการศึกษาภาษาต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากความใกล้เคียงของคำศัพท์ การสร้างคำ และวากยสัมพันธ์
  • แบบลักษณ์ภาษา (言語類型論 : Linguistic typology) เป็นการศึกษาคุณสมบัติทางไวยากรณ์ที่ใช้อยู่ในภาษาต่าง ๆ
  • วัจนลีลาศาสตร์ (文体論 : Stylistics linguistics) เป็นการศึกษาลีลาในการใช้ภาษา

ประโยชน์ของภาษาศาสตร์

  1. ช่วยให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
  2. ช่วยให้มีกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น
  3. ช่วยให้ผู้เรียนอธิบายปรากฏการณ์และลักษณะของภาษาให้แก่ผู้อื่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การออกเสียงที่แตกต่างกัน การออกเสียงที่ถูกต้อง
  4. สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคต เช่น ครู อาจารย์ นักแปล ล่าม นักคอมพิวเตอร์ นักบำบัด ฯลฯ และที่ได้นำไปใช้แน่นอน คือ อาชีพนักภาษาศาสตร์นั่นเอง

japanese_hiragana_a

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก
1. พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
3. ภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น โดย ณัฏฐิรา ทับทิม
4. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาภาษาศาสตร์ภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น